Home » บทความน่ารู้ » เริ่มแล้ว! ค่าปรับจราจรแบบใหม่ ที่ผู้ขับขี่ควรรู้
เริ่มแล้ว! ค่าปรับจราจรแบบใหม่ ที่ผู้ขับขี่ควรรู้


ผู้ใช้รถ – ใช้ถนนคงทราบเกี่ยวกับกฎจราจรเบื้องต้นกันอยู่แล้ว เพราะเกี่ยวข้องกับการขับขี่และความปลอดภัยของทั้งตัวคุณเองและส่วนรวม รวมถึงช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุอีกด้วย ล่าสุดทางกรมขนส่งทางบกได้ออก พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักทางกฎหมายและป้องกันผู้ที่กระทำผิดซ้ำๆ ซึ่งผู้ใช้รถ – ใช้ถนนทุกคนต้องรับรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากฝ่าฝืนอาจมีโทษหนักทั้งจำและปรับ อีกทั้งค่าปรับจราจรใหม่นี้ยังมากกว่า พ.ร.บ. ฉบับเดิมหลายเท่าอีกด้วย มีรายละเอียดอย่างไรบ้างเรารวบรวมมาให้แล้วในบทความนี้
เพิ่มอัตราโทษปรับที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนี้
- ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด, ขับรถฝ่าฝืนสัญญานไฟแดง, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกกันน็อก ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากไม่รัดเข็มขัดนิรภัยก็ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เช่นกัน (จากเดิมปรับไม่เกิน 500 บาท)
- เพิ่มโทษผู้ขับขี่ในกรณีที่เกิดการขับขี่โดยประมาท ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายผู้อื่น อัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

เพิ่มโทษแข่งรถในทางหลวงหรือที่สาธารณะ ดังนี้
- รวมกลุ่มมั่วสุมในทางหรือใกล้ทางสาธารณะ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อาจมีความผิดฐาน “พยายามแข่งรถ” หากมีพฤติกรรมหรือเข้าเงื่อนไขเหล่านี้
- มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถมาก่อน
- รถที่มีการรวมกลุ่มมีการดัดแปลง / ปรับแต่งสภาพรถที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด
- มีพฤติกรรมที่ส่อไปทางการแข่งรถบนทางหลวงหรือทางสาธารณะ
ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทางหลวงหรือสาธารณะ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
- ผู้จัดหรือผู้โฆษณามีการชักชวนให้มีการแข่งรถ
มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ - ร้านแต่งรถ ที่ทำการแต่งรถให้บุคคลไปใช้แข่ง
มีโทษในฐานะผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทางหลวง

เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำในกรณีเมาแล้วขับ
- หากขับขี่ขณะเมาแล้วถูกจับเป็นครั้งแรก จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- หากกระทำผิดซ้ำสอง ในข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทำผิดครั้งแรก มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท (ศาลจะลงโทษและปรับด้วยทุกครั้งที่กระทำผิด)
- นอกจากนี้จะถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือหากกระทำผิดซ้ำอีก อาจได้รับโทษโดยการถอนใบอนุญาตขับขี่

กำหนดเรื่องรัดเข็มขัดนิรภัย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ขับรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถกระบะ หรือรถเก๋ง ที่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารจะต้องทำการรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หากเป็นรถกระบะสองตอน ผู้ที่นั่งโดยสารข้างหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และในกรณีที่นั่งบริเวณแค็บหรือท้ายกระบะ จะต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย รวมถึงผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี
ในกฎหมายข้อนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้ประกาศใช้ร่วมกับกฎหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งจะบังคับใช้ต่อเมื่อได้จัดทำประกาศและผ่านราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับกรมขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและลดอัตราภาษีที่นั่งนิรภัย รวมถึงวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่อง การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้เสร็จทันภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2565
ทั้งหมดนี้คือข้อกฎหมายและค่าปรับจราจรแบบใหม่ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศออกมาและบังคับใช้แล้ว ผู้ขับขี่ทุกคนที่ใช้รถทุกประเภท ควรศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติตามข้อกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเป็นการช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย แต่ถึงแม้จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกที่ ทุกเวลา การทำประกันรถยนต์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คุณอุ่นใจและสบายใจ หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้น
- สำหรับใครที่สงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://viriyahphuket.com/ หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 099-424-4596
บทความอ้างอิง # บริษัท วิริยะประกันภัยจำกัด(มหาชน)